ความหมายของการเขียนย่อหน้า
ย่อหน้า หรือ อนุเฉก คือ ข้อความตอนหนึ่งที่ประกอบด้วยประโยคหลายประโยค ประโยคเหล่านี้มีความสัมพันธ์กัน โดยมีใจความมุ่งแสดงความคิดสำคัญ เพียงเรื่องเดียว
ย่อหน้าเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนที่มีความสำคัญ การเริ่มย่อหน้า คือ การเริ่มใจความสำคัญ เมื่อย่อหน้าครั้งหนึ่งๆ ข้อความบรรทัดแรก จะต้องเยื้อง เข้ามาทางขวามือเล็กน้อยให้เป็นที่สังเกตได้ ความยาวของย่อหน้าไม่สามารถจำกัดได้แน่นอนตายตัวได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสำคัญของเนื้อหาที่นำมาเขียน ความยาวของย่อหน้ามีหลักกว้างๆ คือ ต้องยาวพอที่จะอธิบายความคิดได้ชัดเจน แต่ไม่ยาวจนมีความคิดหลายอย่างเข้ามาปะบนในย่อหน้านั้น ดังนี้ การย่อหน้า ยังช่วยให้ผู้อ่านได้พักสายตาอีกด้วย
ความสำคัญของการเขียนย่อหน้า
งานเขียนจะต้องประกอบไปด้วยย่อหน้าหลายย่อหน้ารวมกัน ย่อหน้าจึงเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่ง ย่อหน้าที่ดีย่อยมีผลดีต่อผู้เขียนและผู้อ่าน ดังนี้
1. ย่อหน้าแต่ละย่อหน้าบรรจุความคิดหลักหรือความคิดสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะเสนอ และย่อหน้าจะเป็นตัวแทนของลำดับเรื่อง เหตุผลหรือการอธิบาย ชื่อเรื่องให้กระจ่างยิ่งขึ้น ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องได้ง่าย เป็นลำดับขั้นตอน มองเห็นเหตุผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในแง่ของผู้เขียนนั้น ย่อหน้าจะช่วย ให้ผู้เขียน มีวิธีการเสนอเรื่องที่ดี เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องไม่สับสน
2. ย่อหน้าทำให้ผู้อ่านมีช่วงโอกาสคิดพิจารณาเนื้อหาในย่อหน้าที่มาก่อน เพื่อจะได้คิดติดตามเนื้อหาในย่อหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
3. ย่อหน้าทำให้ผู้อ่านได้พักสายตา พักสมอง เพราะการอ่านข้อความที่ยาวต่อเนื่องโดยไม่มีย่อหน้านั้น ผู้อ่านย่อมจะเกิดความเบื่อหน่าย และความเมื่อยล้าไม่อยากติดตามเรื่อง
4. ย่อหน้าทำให้เกิดความงาม คืองามในรูปของการเขียนหนังสืออย่างมีสัดส่วน ทั้งนี้เพราะการเขียนหนังสือเป็นศิลปะ ซึ่งต้องการความงามทั้งรูปและถ้อยคำ
หลักการเขียนย่อหน้า
ถึงแม้จะไม่สามารถจำกัดความยาวในการเขียนย่อหน้า แต่ผู้เจียนก็ควรจะคำนึงถึงหลักกว้างๆ ในการเขียน ดังนี้
1. ย่อหน้าต้องยาวพอที่จะอธิบายความคิดได้แจ่มแจ้ง ต้องไม่สั้นจนกลายเป็นการนำหัวข้อมาเรียงๆ กัน โดยไม่อธิบายให้เห็นว่า หัวข้อนั้น สัมพันธ์กันอย่างไร และต้องไม่ยาวจนกระทั้งมีความคิดหลายความคิดปะปนกันไปหมด แต่ละย่อหน้าควรแทนความคิดสำคัญเพียง ความคิดเดียว ถ้าย่อหน้ายาวมากควรพิจารณาว่าจะแบ่งเป็นย่อหน้าย่อยลงได้อีกหรือไม่ อย่างไรก็ตามงานเขียนที่มีย่อหน้ามากไปจะทำให้การอ่านขาดความต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อความเข้าใจเนื้อหา แต่มีงานเขียนบางประเภท เช่น ข้อเขียนลงในคอลัมน์หนังสือพิมพ์รายวัน นิยมเขียนโดยย่อหน้าบ่อยครั้ง ทั้งนี้ เป็นลักษณะเฉพาะ และเป็นวัตถุประสงค์ของหนังสือพิมพ์เองที่จะเรียกร้องความสนใจ ลักษณะดังกล่าวจึงเหมาะกับการเขียนโดยทั่วไป
2. โดยทั่วไปย่อหน้ามีความยาวโดยประมาณ 4 บรรทัด หรือ 200 คำ เป็นอย่างน้อย แต่ไม่ควรเกิน 8 หรือ 10 บรรทัด หรือประมาณ 200-250 คำ ถ้ายาวกว่านั้น ควรพิจารณาว่าจะแบ่งย่อหน้าได้อีกหรือไม่ ย่อหน้าที่ไม่ยาวมากนักจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดได้ชัดเจน ว่าผู้เขียนต้องการพูดเรื่องอะไร เรื่องนั้นมีความคิดอะไรสนับสนุนบ้าง ที่เข้าใจได้ชัดเจนก็เพราะย่อหน้านั้นๆ มุ่งความคิดสำคัญความคิดเดียว และไม่ซับซ้อนการแบ่งย่อหน้าได้ดี จึงช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ดียิ่งขึ้น
3. ความสั้นยาวของแต่ละย่อหน้าในเรื่องหนึ่งๆ นั้นไม่ควรให้แตกต่างกันมากนัก เช่น ย่อหน้าแรก 20 บรรทัด ย่อหน้าต่อไป 5 บรรทัดบ้าง 3 บรรทัดบ้าง เช่นนี้ จะไม่เกิดความงามและความสมดุล แต่มิได้หมายความว่าแต่ละย่อหน้าจะต้องมีความยาวขนาดเดียวกัน ความยาวของย่อหน้า ควรมีขนาด แตกต่างกันบ้าง แต่ไม่มากจนขาดความสมดุล ทั้งนี้เพราะย่อหน้าที่มีความสั้นยาวต่างกันอย่างเหมาะสม จะช่วยดึงดูดความสนใจผู้อ่านได้บ้าง
องค์ประกอบของการเขียนย่อหน้า
ในย่อหน้าแต่ละย่อหน้านั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ ใจความสำคัญ และประโยคขยายความ ดังนี้
1. ใจความสำคัญ หรือประโยคใจความสำคัญ คือ ความคิดที่ผู้เขียนมุ่งเสนอแก่ผู้อ่านและ ในหนึ่งย่อหน้านั้นต้องมีใจความสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว ประโยคใจความสำคัญจึงเป็นความคิดหลัก (main idea) ที่ผู้เขียนต้องการแสดงออกมาให้ผู้อื่นทราบความการแสดงใจความสำคัญในย่อหน้ามักปรากฏเป็นประโยคๆ หนึ่ง ซึ่งอาจอยู่ตอนต้น กลาง ท้ายหรืออยู่ทั้งต้นทั้งท้ายก็ได้
2. ประโยคขยายความ เป็นประโยคที่ขยายประโยคใจความสำคัญ ประโยคขยายความจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน ประโยคขยายความนี้จะมีมากน้อยเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับผู้เขียนว่าจะสามารถขยายให้ผู้อ่านเข้าใจได้มากน้อยเพียงไร
รูปแบบของย่อหน้า
จากองค์ประกอบทั้ง 2 ส่วน ดังกล่าวแล้ว สามารถนำมาเขียนย่อหน้าได้ดังนี้
1. ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนต้นย่อหน้า ประโยคต่างๆ มาเป็นประโยคที่ช่วยขยายความให้เห็นจริง การวางตำแหน่งประโยคใจความสำคัญไว้ต้นย่อหน้านี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะจะช่วยให้ผู้เขียนทราบว่า ตนกำลังเขียนเรื่องอะไร ประเด็นใด ทำให้ไม่หลงออกนอกเรื่อง และผู้อ่านก็สามารถทราบความคิดหลักของผู้เขียนได้ทันที
2. ประโคใจความสำคัญอยู่ตอนกลางย่อหน้า บางครั้งอาจพบว่ามีประโยคหลายประโยคกล่าวอธิบายเป็นข้อความนำไว้ก่อน แล้วจึงถึงประโยคใจความสำคัญ ซึ่งกระชับความ กินความครอบคลุมหมด ถัดจากนั้น ก็เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป จนย่อหน้านั้นได้ความสมบูรณ์
3. ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนท้ายย่อหน้า เป็นการสรุปให้ผู้อ่านเห็นได้ชัดเจน หลังจากที่ได้อ่านประโยคอธิบายความมาตั้งแต่ต้น เป็นการเน้นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการในตอนท้ายสุด
4. ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนต้นและตอนท้ายย่อหน้า ผู้เขียนที่ต้องการให้ผู้อ่านทราบจุดประสงค์หรือความคิดของตนโดยชัดเจน มักนิยมเขียนประโยคใจความสำคัญไว้ตอนต้นย่อหน้าแห่งหนึ่ง แล้วขยายความไปจนถึงตอนสุดท้ายย่อหน้า และจบลงด้วยประโยคใจความสำคัญ ซึ่งเป็นการซ้ำข้อความทำนองเดียวกับข้างต้น กล่าวสรุปซ้ำอีกครั้งหนึ่งให้ขัดเจนยิ่งขึ้น
กลวิธีขยายใจความสำคัญในย่อหน้า
ดังที่กล่าวแล้วว่า ย่อหน้าแต่ละย่อหน้า มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ใจความสำคัญ และประโยคขยายความ ในการเขียนย่อหน้านั้น เมื่อกำหนดความคิดสำคัญ หรือใจความสำคัญที่จะเขียนได้แล้ว ใจความสำคัญนั้นอาจจะปรากฏเป็นประโยคใจความสำคัญที่ชัดเจน หรือเป็นเพียงขยายความต่อกัน เพื่อให้ได้เรื่องราวครบถ้วน เป็นย่อหน้าที่สมบูรณ์ กลวิธีขยายใจความสำคัญทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. ให้รายละเอียด การให้รายละเอียด เป็นวิธีการเขียนอธิบายเกี่ยวกับใจความสำคัญ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจ หรือรู้เรื่องราวนั้นๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ว่าเป็นอย่างไร วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไป
2. ให้คำจำกัดความ การให้คำจำกัดความเป็นวิธีการเขียนเพื่ออธิบายขอบเขตของความหมายของเรื่องที่ต้องการกล่าวถึง หรือเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ ความหมายของคำ หรือวลีที่ใช้ในเรื่องที่เขียนก็ได้ วิธีนี้มักนิยมใช้กับย่อหน้าที่เป็นคำนำ
3. ให้เหตุผล การใช้เหตุผลเป็นวิธีการเขียนที่ขยายความเกี่ยวกับเรื่องที่เขียนนั้นว่าเป็นเพราะอะไร
4. ยกตัวอย่าง การยกตัวอย่างเป็นการขยาย โดยยกตัวอย่างมาประกอบใจความสำคัญ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจหรือเห็นด้วยกับเรื่องที่เขียนนั้นๆ ตัวอย่างที่ยกมา ต้องตรงตามเนื้อเรื่อง ไม่ควรยากหรือซับซ้อนเกินไป และต้องสนับสนุนใจความสำคัญ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจ
5. เปรียบเทียบ การเปรียบเทียบ อาจเป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตรงกันข้าม เพื่อให้ชัดเจนขึ้น เช่น ดีกับชั่ว หรือการเปรียบเทียบอาจ ปรากฏทำนอง อุปมาอุปไมย ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น และทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจน หรือเป็นการเปรียบนามธรรม กับรูปธรรม ก็ได้
ลักษณะของย่อหน้าที่ดี
ย่อหน้าที่ดีมีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ
1. ความสมบูรณ์ ในแต่ละย่อหน้าต้องเขียนให้มีจุดหมาย เนื้อหา สาระสำคัญ รายละเอียด ส่วนขยายชัดเจน ไม่ออกนอกเรื่อง ไม่ยกตัวอย่างมาก เกินความจำเป็น เมื่ออ่านจบแล้ว ต้องได้ความบริบูรณ์ เหมือนอ่านเรียงความสั้นเพียง 1 เรื่อง เพราะย่อหน้าก็คือ ความเรียงอย่างย่อเรื่องหนึ่ง
2. เอกภาพ หมายความว่า ข้อความแต่ละย่อหน้า จะต้องเขียนให้มีความคิด หรือใจความสำคัญเพียงประการเดียว ไม่เปลี่ยนความคิด หรือจุดมุ่งหมาย เป็นหลายอย่างใน ย่อหน้าเดียว
3. สัมพันธภาพ คือ การเรียบเรียงข้อความในย่อหน้าให้เกี่ยวโยง ต่อเนื่องกัน เกิดความสัมพันธ์กัน เมื่ออ่านแล้วสละสลวยรื่นหู ทำให้แนวความคิด ติดต่อกัน ผู้อ่านสามารถติดตามได้ง่าย
4. สารัตถภาพ คือ มีการเน้นย้ำใจความสำคัญ กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างได้เนื้อหาสาระ ได้ใจความที่ชัดเจนเพียงพอ การเน้นย้ำใจความสำคัญนั้น อาจทำได้โดยการวางตำแหน่งของประโยคใจความสำคัญ ไว้ตอนต้นย่อหน้า หรือท้ายย่อหน้า ทั้งนี้เพราะผู้อ่านมักจะให้ความสนใจกับ ประโยคเริ่มต้น และประโยคลงท้าย
ฉะนั้น ย่อหน้าที่ดีจึงควรมีทั้งความสมบูรณ์ เอกภาพ สัมพันธภาพ และสารัตถภาพ ซึ่งจะช่วยให้งานเขียนนั้นเป็นงานเขียน ที่มีความต่อเนื่อง ชัดเจน และสมบูรณ์ขึ้น