หลักการเขียนเบื้องต้น

            หลักการเขียนเบื้องต้น

            การเขียนเป็นการสื่อสารที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร เพื่อสื่อความรู้ความคิด ประสบการณ์
และอารมณ์ความรู้สึกจากผู้เขียนไปสู่ผู้อ่าน ทั้งนี้การเขียนจะสัมฤทธิผลก็ต่อเมื่อผู้อ่านเข้าใจสารตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ ตลอดจนมีปฏิกิริยาตอบสนองสอดคล้องกับความต้องการของผู้เขียน

           ความหมายและความสำคัญของการเขียน

           การเขียน หมายถึง การถ่ายทอดความรู้ ความรู้สึกนึกคิด เรื่องราว ตลอดจนประสบการณ์ต่างๆไปสู้ผู้อื่นโดยใช้ตัวอักษษเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด การเขียนเป็นวิธีการสื่อสารที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด และประสบการณ์ เพื่อสื่อไปยังผู้รับได้อย่างกว้างไกล นอกจากนั้นการเขียนยังมีคุณค่าในการบันทึกเป็นข้อมูลหลักฐานให้ศึกษาได้ยาวนาน

           จุดมุ่งหมายของการเขียน

          ในการเขียนแต่ละครั้งผู้เขียนจะต้องตั้งจุดมุ่งหมายของการเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้้งานเขียนเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการเขียนที่ได้ตั้งเอาไว ้เป็นอย่างดี จุดมุ่งหมายในการเขียนสามารถจำแนกได้ดังนี้

         1) การเขียนเพื่อให้ข้อเท็จจริง เป็นการเขียนเพื่อให้ข้อมูล เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง หรือประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมา ผู้เขียนจะต้องคำนึงถึงความถูกต้อง และการจัดลำดับข้อมูลให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

        2) การเขียนเพื่ออธิบาย เป็นการเขียนเพื่อชี้แจง ให้ความเข้าใจที่กระจ่างชัดเจนใน เรื่องหนึ่งเรื่องใด ผู้เขียนจะต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษาที่ชัดเจนกะทัดรัด เข้าใจง่ายและ จัดลำดับขั้นตอนการกระทำที่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง

        3) การเขียนเพื่อแสดงจินตนาการ เป็นการเขียนเพื่อสร้างอารมณ์และความรู้สึกให้ ผู้อ่านคล้อยตาม เป็นการเขียนเพื่อสร้างภาพพจน์ให้เกิดขึ้นด้วยกลวิธีที่น่าสนใจ ผู้เขียนจะต้องคำนึงถึงการเลือกสรรถ้อยคำที่มีความสละสลวย ประณีตงดงาม เต็มไปด้วยภาพพจน์ และ โวหารต่าง ๆ

       4) การเขียนเพื่อโน้มน้าวชักจูงใจ เป็นการเขียนเพื่อแสดงเหตุผล ให้ข้อคิด ตลอดจน ข้อแนะนำที่ต้องการให้ผู้อ่านปฏิบัติตาม ผู้เขียนจะต้องใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยหลักการของเหตุ และผล การเลือกสรรถ้อยคำและกลวิธีที่มีความแปลกใหม่ เด่นสะดุดความสนใจที่สามารถกระตุ้นผู้อ่านได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
       5) การเขียนเพื่อธุรกิจ เป็นการเขียนเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับธุระการงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ผู้เขียนจะต้องคำนึงถึงรูปแบบที่ถูกต้องเหมาะสมของการเขียนและการใช้งานในแต่ละประเภท และ จะต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ถ้อยคำ สำนวนภาษาที่ถูกต้องตาม แบบแผน สั้นกะทัดรัด เข้าใจได้อย่างตรงไปตรงมา

      6) การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็น เป็นการเขียนแสดงการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ ตลอดจนแสดงทรรศนะส่วนตัวต่อเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงโดยใช้หลักการของเหตุและผลตามพื้นฐานของ
ข้อเท็จจริงเหล่านั้น ผู้เขียนจะต้องคำนึงถึงการเลือกใช้ถ้อยคำสำนวนที่มีความชัดเจน เข้าใจง่าย และมีกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ

       7) การเขียนเพื่อเสียดสี ล้อเลียน เป็นการเขียนเพื่อต้องการตำหนิ หรือกล่าวถึง ข้อบกพร่องของบุคคล การกระทำ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยกลวิธีที่แนบเนียนและนุ่มนวล บางครั้งอาจมีการแทรกอารมณ์ขันในทำนองยั่วล้ออยู่ด้วย ผู้เขียนจะต้องคำนึงถึงการใช้ถ้อยคำ ที่สุภาพไม่แสดงความก้าวร้าว หรือสื่อความหมายไปในเชิงมุ่งทำลาย

      ลักษณะของงานเขียนที่ดี

      1.ความถูกต้อง
             งานเขียนที่ดี ควรมีเนื้อหาถูกต้อง ตามข้อเท็จจริง รูปแบบการนำ เสนอ ถูกต้องตามประเภทการ เขียน การใช้ภาษาถูกต้องตาม หลักภาษาและระดับภาษา การ อ้างอิงถูกต้องตามแบบแผนการอ้างอิง
     
      2.ความชัดเจน
            สื่อความหมายให้ผู้อ่านเข้าใจ ได้ชัดเจนตรงตามวัตถุประสงค์ ของการสื่อสารมีกลวิธีการเขียน ที่ทำให้ผู้อ่านเกิดมโนภาพ

      3.ความสละสลวย
           ใช้ภาษาอย่างสละสลวย มีความกระชับ ใช้คำน้อยแต่กินความมากไม่ใช้ภาษาเยิ่นเย้อฟุ่มเฟือย หลากคำเพื่อเลี่ยงความซ้ำซาก

      4.ความสร้างสรรค์
           ควรมีความสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ เช่นความสร้างสรรค์ทางความคิดของผู้เขียน ความสร้างสรรค์การใช้ภาษา และประโยชน์สร้างสรรค์ที่ผู้อ่านจะได้รับ ความคิดสร้างสรรค์ในงานเขียน นอกจากจะให้ความเพลิดเพลินแล้ว ยังให้แนวคิดปรัชญาชีวิตและคุณค่าทางวิชาการ ในการเสนอแนวคิดและปรัชญา ผู้เขียนต้องมีความสำนึกรับผิดชอบต่อมนุษย์และสังคม ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความ ปรารถนาภายในของผู้เขียนที่มีต่อ มนุษย์ จึงสรรค์สร้างแนวคิด ปรัชญา และปรารถนาเห็นความเป็นธรรมของ สังคมหรือเห็นสังคมที่ดีกว่า ด้วยความ จริงใจและบริสุทธิ์ใจ

    การเป็นผู้เขียนที่ดี มีดังนี้

            1. ความรู้และประสบการณ์
            2. ความช่างสังเกต
            3. ความคิด
            4. การใช้ภาษา
            5. การฝึกฝน

     การเขียนที่ดีต้องมีมารยาท มารยาทการเขียนมีดังนี้

           1.รักษาความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยในการเขียนทุกครั้ง

           2.เขียนให้อ่านง่าย ชัดเจน อย่าเขียนให้อ่านหวัดจนเกินไป

           3.เขียนให้ถูกหลักการเขียน มีย่อหน้า เว้นวรรค ช่องไฟให้เหมาะสม

           4.ใช้ถ้อยคำสำนวนสุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้สำนวนหยาบโลน หรือภาษาสื่อมวลชน

           5.เขียนสะกด การันต์ วรรณยุกต์ให้ถูกต้อง

           6.ผู้เขียนมีความรับผิดชอบ เขียนด่าว่าใคร หรือเขียนใส่ร้ายคนอื่น

           7.ไม่ควรเขียนเลอะเทอะตามผนัง กำแพง เสาไฟฟ้า ที่สาธารณะต่าง ๆ

     สรุป
           การใช้ภาษา ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียนก็ตาม นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะต้องใช้อยู่เสมอ ทั้งการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม การประกอบอาชีพ และ สร้างความเจริญแก่ชาติ บ้านเมือง ผู้พูดหรือผู้เขียนจะต้องมีหลักในการใช้ภาษา ให้เกิดผลดีต่อตนเองและสังคม หากใช้ภาษาได้ถูกต้องและสื่อความเข้าใจ กับบุคคลต่าง ๆ ได้แล้ว ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าได้ใช้การพูดการเขียนนั้น อย่างมีศิลปะแล้วหรือยัง ภาษาที่ใช้มีความไพเราะ สุภาพ เหมาะสมหรือไม่ นั่นคือผู้ใช้จะต้องรักษามารยาทในการใช้ภาษานั่นเอง การรักษามารยาท ในการพูด และการเขียนเป็นสิ่งจำเป็นแก่ทุกคน